Ethylene-Propylene Diene Rubber (EPDM)

ยางเอทธิลีนโพรพิลีนไดอีน [Ethylene-Propylene Diene Rubber, EPDM]

โครงสร้าง การผลิต และสมบัติของยาง EPDM

         เป็นที่ทราบกันดีว่าทั้งพอลิเอทธิลีน(PE) และพอลิโพรพิลีน(PP) ต่างก็มีสมบัติเป็นพลาสติกที่อุณหภูมิห้องเนื่องจากพอลิเมอร์ทั้งสองชนิดดังกล่าวสามารถตกผลึกได้ง่าย แต่หากทำการป้องกันการตกผลึกของพอลิเอทธิลีนโดยการเติมมอนอเมอร์อีกชนิดหนึ่งลงไปในระหว่างกระบวนการตพอลิเมอร์ไรเซชั่นก็จะได้พอลิเมอร์ชนิดใหม่ที่มีโครงสร้างของโมเลกุลแบบอสัณฐานและมีสมบัติความเป็นยางที่มีความยืดหยุ่นสูง

        ในระยะแรกเริ่มที่ได้มีการสังเคราะห์พอลิเมอร์จากการทำปฏิกิริยาโคพอลิเมอร์ไรเซชั่นระหว่างมอนอเมอร์ของเอทธิลีน (ethylene) กับโพรพิลีน (propylene) จะได้พอลิเมอร์ที่มีลักษณะการจัดเรียงตัวของโมเลกุลแบบอสัณฐานและมีสมบัติเป็นยางเรียกว่ายาง EPM เนื่องโมเลกุลของยางชนิดนี้ไม่มีส่วนที่ไม่อิ่มตัว (ไม่มีพันธะคู่) ดังนั้น ยางชนิดนี้จึงมีสมบัติเด่นในด้านความทนทานต่อการเสื่อมสภาพอันเนื่องมาจากแสงแดด ออกซิเจน ความร้อน โอโซน และสารเคมี อย่างไรก็ตาม ข้อเสียหลักของยางชนิดนี้ก็คือไม่สามารถใช้กำมะถันในการคงรูปได้(เพราะไม่มีพันธะคู่อยู่ในโมเลกุล) การทำให้ยางคงรูปจึงต้องใช้เพอร์ออกไซด์เท่านั้น ปัจจุบันจึงไดมีการพัฒนายางชนิดใหม่โดยการเติมมอนอเมอร์ตัวที่สามคือไดอีนลงไปเล็กน้อยในระหว่างการเกิดปฏิกิริยาพอลิเมอร์ไรเซชั่น ทำให้ยางที่ได้มีส่วนที่ไม่อิ่มตัวอยู่ในสายโมเลกุล ยางจึงสามารถคงรูปได้ด้วยกำมะถันและเรียกยางชนิดนี้ว่ายาง EPDM

                เนื่องจากไดอีนที่เติมลงไปไมได้ไปแทรกอยู่ที่สายโซ่หลักของโมเลกุล แต่จะเกาะอยู่กับสายโซ่หลักเป็นลักษณะกิ่งก้านสาขา ด้วยเหตุนี้ แม้ว่าตำแหน่งพันธะคู่จะเกิดการแตกตัวอันเนื่องมาจากปัจจัยต่างๆ เช่น แสงแดด ออกซิเจน โอโซน ฯลฯ แต่สายโซ่หลักก็ยังคงเหมือนเดิมหรือได้รับผลกระทบน้อยมาก ด้วยเหตุนี้ยาง EPDM จึงมีสมบัติเด่นในด้านการทนทานต่อความร้อน แสงแดด ออกซิเจน และโอโซนได้เป็นอย่างดี

การแบ่งเกรด

                ยาง EPDM มีหลายเกรด แต่ละเกรดแตกต่างกันที่สัดส่วนของเอทธิลีนและโพรพิลีน รวมถึงปริมาณของไดอีน โดยทั่วไป ยางชนิดนี้มีเอทธิลีนอยู่ในช่วง 45-85% โมล(หรือ 40-80% โดยน้ำหนัก) แต่เกรดที่มีขายกันโดยทั่วไปจะมีปริมาณเอทธิลีนอยู่ประมาณ 50-70% โมลและมีปริมาณของไดอีนอยู่ในช่วง 3-11% โมล แม้ว่าได้อีนที่ใช้กันอย่างกว้างขวางจะมีอยู่ 3 ชนิด คือ dicyclopentadiene (DCPD) ethylidene norbornene (ENB) และ trans-1,4-hexadiene (1,4 HD) แต่ชนิดที่ใช้กันมากที่สุด ได้แก่ ENB เนื่องจากจะทำให้โมเลกุลของยางว่องไวต่อการเกิดปฏิกิริยาวัลคาไนเซชั่นหรือปฏิกิริยาคงรูปด้วยกำมะถันสูงที่สุด แม้ว่าการใช้1,4 HD จะทำให้ยางเกิดปฏิกิริยาการคงรูปไดช้ากว่า ENB แต่สมบัติบางประการของยางจะดีกว่าเช่น ความทนทานต่อความร้อน รวมถึงการบดผสมและการขึ้นรูปยางก็จะทำได้ง่ายกว่าเนื่องจากโมเลกุลของยางมีโครงสร้างเป็นเส้นตรง(linear molecules) ส่วนการใช้ DCPD จะทำให้ยางเกิดปฏิกิริยาคงรูปได้ช้าที่สุด

                สัดส่วนของเอทธิลีนและโพรพิลีนในยางก็มีผลกระทบโดยตรงต่อสมบัติของยาง กล่าวคือยางที่มีปริมาณเอทธิลีนสูงจะมีความแข็งแรงในสภาพที่ยังไม่คงรูปสูง แต่เมื่อปริมาณของเอทธิลีนลดลง ยางกฃ้จะนิ่มและยืดหยุ่นมากขึ้น

นอกจากจะมีการแบ่งเกรดตามชนิดและปริมาณของไดอีนและสัดส่วนของเอทธิลีนและโพรพิลีนแล้ว ยังมีการแบ่งเกรดยาง EPDM ตามความหนืด (น้ำหนักโมเลกุล)อีกด้วย โดยทั่วไป สามารถแบ่งยางตามค่าความหนืดมูนนี่ได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

1.ยางเกรดที่ความหนืดต่ำถึงปานกลาง (low-medium viscosity) โดยมีค่าความหนืด ML(1+4) @100 C อยู่ในช่วง 25 ถึง 60

2.ยางเกรดที่ความหนืดปานกลางถึงสูง(medium-high viscosity) โดยมีค่าความหนืด ML(1+4) @125 C อยู่ในช่วง 60 ถึง 100

3.ยางเกรดที่ความหนืดสูงมาก(very high viscosity) โดยมีค่าความหนืด ML(1+4) @125 C อยู่ในช่วง 100 ถึง 200

ยางเกรดที่มีความหนืดต่ำแม้ว่าจะสามารถนำไปแปรรูปได้ง่าย แต่ยางจะมีความสามารถรับสารตัวเติมได้ในปริมาณปานกลางเท่านั้นจึงเหมาะกับการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีราคาถูก

สมบัติทั่วไป

ยางEPM และ EPDM มีความหนาแน่นที่อุณหภูมิห้องค่อนข้างต่ำกว่ายางชนิดอื่นๆประมาณ 0.86-0.87 g/cm3 และมีค่าของอุณหภูมิของการเปลี่ยนสถานะคล้ายแก้วประมาณ -60 C ส่วนสมบัติทางกายภาพอื่นๆ แสดงดังในตารางที่ 6               

ความยืดหยุ่น(elasticity) ยาง EPDM มีความยืดหยุ่นสูงกว่ายางสังเคราะห์ชนิดอื่นๆ แต่ยังต่ำกว่ายางธรรมชาติ

ความทนทานต่อแรงดึง(tensile strength) เนื่องจากการจัดเรียงตัวของมอนอเมอร์ในสายโซ่โมเลกุลเป็นแบบไม่มีรูปแบบ ทำให้ได้พอลิเมอร์แบบอสัณฐาน ยางชนิดนี้จึงไม่สามารถตกผลึกได้ ส่งผลให้ยางมีค่าความทนทานต่อแรงดึงค่อนข้างต่ำและต้องอาศัยการเติมสารตัวเติมเสริมแรงเข้าช่วย โดยค่าความทนทานต่อแรงดึงของยางที่ได้รับการเสริมแรงจะสูงหรือต่ำมากน้องเพียงใดกฃ้ขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณของสารตัวเติมที่ใช้

ความทนทานต่อการฉีกขาด (tear strength) เมื่อได้รับการเสริมแรงด้วยสารตัวเติมที่เหมาะสม ยาง EPDM จะมีค่าความทนทานต่อการฉีกขาดสูง โดยเฉพาะที่อุณหภูมิสูงๆ ยางชนิดนี้จะมีค่าความทนทานต่อการฉีกขาดใกล้เคียงกับยางธรรมชาติ

Compression set ยางEPDM มีค่า Compression set  ต่ำมาก โดยเฉพาะในยางเกรดที่มีENB ในปริมาณที่สูงและได้รับการคงรูปด้วยระบบเพอร์ออกไซด์หรืออาจคงรูปด้วยระบบกำมะถันที่มีการใช้ตังเร่งปฏิกิริยาที่ความว่องไวสูงๆ แต่ว่าค่าCompression set ของยางที่คงรูปด้วยระบบเพอร์ออกไซด์จะไม่เปลี่ยนแปลงมากนักเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น ในขณะที่ค่า Compression set ของยางที่คงรูปด้วยระบบกำมะถันจะเพิ่มสูงขึ้นอย่ารวดเร็วเมื่ออุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น

สมบัติเชิงพลวัต (dynamic properties) ยาง EPDM มีสมบัติเชิงพลวัตที่ดีมากและมีความทนทานต่อความล้าสูง โดยเฉพาะในยางที่ได้รับการคงรูปด้วยระบบกำมะถันซึ่งมีสมบัติเชิงพลวัตใกล้เคียงกับยาง SBR

ความทนทานต่อการเสื่อมสภาพ (aging properties) ยางEPDM มีพันธะคู่ในโมเลกุลน้อยมาก ดังนั้น ยางชนิดนี้จึงทนต่อการเสื่อมสภาพเนื่องจากสภาพอากาศ ออกซิเจน โอโซน แสงแดด และความร้อนได้เป็นอย่างดี(ดีกว่ายางSBRและ NBRแต่ด้อยกว่ายางซิลิโคน) นอกจากนี้ ยาง EPDM ยังทนต่อการเสื่อมสภาพอันเนื่องมาจากสารเคมี กรด และด่างได้ดีอีกด้วย ความทนทานต่อการเสื่อมสภาพดังกล่าวขึ้นอยู่กับปริมาณไดอีนที่มีอยู่ในโมเลกุล ยาง  EPDM  เกรดที่มีไดอีนต่ำจะมีความทนทานต่อการเสื่อมสภาพสูง (จึงไม่จำเป็นต้องเติมสารป้องกันการเสื่อมสภาพ) แต่ว่าในยางเกรดที่มีไดอีนค่อนข้างสูง อาจจำเป็นต้องเติมสารป้องกันการเสื่อมสภาพอันเนื่องมาจากออกซิเจนและแสงแดดลงไปด้วย อย่างไรก็ตาม ยางชนิดนี้ทุกเกรดมีความทนทานต่อโอโซนดีมาก จึงไม่จำเป็นต้องเติมสารป้องกันโอโซน (antiozonants) ลงไป ส่วนระบบการคงรูปก็มีผลกระทบโดยตรงต่อความทนทานต่อการสื่อมสภาพอันเนื่องมาจากความร้อนและโอโซนของยาง เพราะยางที่คงรูปด้วยระบบเพอร์ออกไซด์จะมีความทนทานต่อความร้อนและโอโซนสูงกว่ายางที่คงรูปด้วยกำมะถัน

ความทนทานต่อน้ำมันและสารเคมี (oil and chemical resistance) จากลักษณะโครงสร้างของโมเลกุล จะเห็นว่ายาง EPM และ EPDM เป็นยางไม่มีขั้วดังนั้น ยางจึงไม่ทนต่อน้ำมันหรือ ตัวทำละลายที่ไม่มีขั้ว(เช่นเดียวกับยางธรรมชาติและยางSBR) แต่จะทนต่อตัวทำละลายที่มีขั้วได้ดี ยางชนิดนี้จึงทนต่อกรด ด่าง อัลกอฮอล์ น้ำ น้ำมันไฮดรอลิค และตัวทำละลายที่มีออกซิเจนเป็นองค์ประกอบได้เป็นอย่างดี มีความทนทานต่อน้ำมันพืชและน้ำมันสัตว์ได้ปานกลาง แต่ไม่ทนต่อตัวทำละลายที่มีฮาโลเจนเป็นองค์ประกอบ กรดอินทรีย์เข้มข้น ตัวทำละลายไฮโดรคาร์บอนสายโซ่ตรง  (aliphatic hydrocarbon solvents) และตัวทำละลายไฮโดรคาร์บอนวงแหวน (aromatic hydrocarbon solvents) เป็นต้น

ความเป็นฉนวน(insulation) จากตารางที่ 6 จะเห็นว่ายางชนิดนี้มีค่าความต้านไฟฟ้าจำเพาะสูงมาก ดังนั้น ยางจึงมีความฉนวนสูงและยังสามารถรักษาสมบัติความเป็นฉนวนได้ดีแม้ที่อุณหภูมิสูงๆ นอกจากนี้ ยางชนิดนี้ยังดูดซึมน้ำได้น้อยมาก จึงเหมาะสำหรับใช้ในการผลิตยางหุ้มสายเคเบิ้ลในกรณีที่สายเคเบิ้ลนั้นต้องสัมผัสกับน้ำ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างยางEPM กับยางEPDM พบว่ายาง EPM มีความเป็นฉนวนสูงกว่ายาง EPDM เล็กน้อย

การหักงอที่อุณหภูมิต่ำ (low temperature flexibility)ยาง EPDMมีสมบัติด้านการหักงอที่อุณหภูมิต่ำได้ดีใกล้เคียงกับยางธรรมชาติ

อุณหภูมิของการใช้งาน (service temperature)ยาง EPDM ที่ได้รับการคงรูปด้วยกำมะถันจะมีอุณหภูมิสูงสุดในการใช้งานต่ำกว่ายางที่ได้รับการคงรูปด้วยเพอร์ออกไซด์ โดยทั่วไป ยาง EPDM สามารถนำไปใช้ได้ที่อุณหภูมิตั้งแต่ -40 Cถึง 150C ปกติยางจะทนต่ออุณหภูมิที่ 165C ได้นาน 1 เดือน หรือที่ 125C ได้นาน 1 ปี และที่ 100C ได้นาน 5 ปี ทั้งนี้สมบัตความทนทานต่อความร้อนของยางยังขึ้ยอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ด้วย เช่น การเลือกใช้ชนิดของสารป้องกันเสื่อมสภาพและปริมาณของไดอีนในยาง เป็บต้น

 การผสมเคมียาง

ยาง EPDM สามรถคงรูปได้โดยใช้เพอร์ออกไซด์หรือใช้กำมะถันร่วมกับตัวเร่งปฏิกิริยาที่มีความว่องไวสูง อย่างไรก็ดี หากต้องการคงรูปยางโดยใช้ระบบเพอร์ออกไซด์ ยาง EPDM ที่ใช้เป็นเกรดที่มีสัดส่วนของพอลิเอทธิลีนสูง เพราะหมู่เมทธิลในพอลิโพรพิลีนจะไปขัดขวางการเชื่อมโยงด้วยเพอร์ออกไซด์ ในทางครงข้าม มันจะทำให้เกิดการตัดสายโซ่ของโมเลกุลแทน ดังนั้น ยางเกรดที่เหมาะสำหรับการคงรูปด้วยเพอร์ออกไซด์จึงมีปริมาณพอลิเอทธิลีนสูงกว่า 50% โมล นอกจากนี้ ชนิดของไดอีนในโมเลกุลก็มีผลกระทบต่ออัตราเร็วในการคงรูปด้วยเพอร์ออกไซด์เช่นกัน เพราะยาง DCP-EPDM จะมีอัตราเร็วในการคงรูปด้วยเพอร์ออกไซด์ สูสงกว่ายางENB-EPDM(แม้ว่ายางชนิดนี้จะมีอัตราเร็วในการคงรูปด้วยกำมะถันต่ำกว่าก็ตาม)

การคงรูปยาง EPM หรือยาง EPDM ด้วยเพอร์ออกไซด์จำเป็นต้องมีการเติมสารกระตุ้นลงไปด้วยเล็กน้อยเพื่อเพิ่มความหนาแน่นของการเชื่อมโยง โดยสารกระตุ้นจะเข้าไปทำปฏิกิริยากับอนุมูลอิสระที่เกิดจากการแตกตัวของเพอร์ออกไซด์ จึงทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อเนื่องต่างๆมากมาย สารกระตุ้นที่นิยมใช้กันมาก ได้แก่ กำมะถัน สารตัวเร่งปฏิกิริยาที่แตกตัวให้กำมะถัน อะไครเลต และควิโนน เป็นต้น

สำหรับการคงรูปด้วยระบบกำมะถันปริมาณของกำมะถันและสารตัวเร่งที่ใช้จะขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณของไดอีนที่มีอยู่ในโมเลกุล สำหรับยางENB-EPDM ส่วนใหญ่แล้วนอกจากจะใช้กำมะถัน(หรือสารตัวเร่งปฏิกริยาที่แตกตัวให้กำมะถัน) ประมาณ 0.2ถึง2.0 phr นอกจากนี้ หากต้องการให้ยางเกิดการคงรูปได้เร็วและมีระดับการคงรูปสูงก็ไม่ควรใช้สารตัวเร่งปฏิกิริยาเพียงตัวเดียว แตควรใช้สารตัวเร่งปฏิกิริยาหลายๆตัวร่วมกันได้แก่ กลุ่มไธอะโซล กลุ่มไธยูแรม และกลุ่มไดไธโอคาร์บาเมต ปัญหาที่มักพบในยาง EPDMคคือปัญหาเรื่องการบลูมมาที่พื้นผิว ของสารตัวเร่งปฏิกิริยาต่างๆซึ่งหากเกิดปัญหาเรื่องการบลูมและทำการปรับลดปริมาณของสารตัวเร่งปฏิกิริยานั้นๆ ให้อยู่ในระดับที่ก่อให้ไม่เกิดปัญหา

โดยทั่วไปยาง EDPM มีความทนทานต่อการเสื่อมสภาพดีอยู่แล้วจึงไม่จำเป็นต้องเติมสารป้องกันการเสื่อมสภาพลงไป อย่างไรก็ดี ในกรณีที่ใช้ยางที่มีปริมาณไดอีนสูงๆ และต้องการให้ยางคงรูปที่ได้มีความทนทานต่อการเสื่อมสภาพสูงมากๆ ก็สามารถเติมสารป้องกันการเสื่อมสภาพที่เป้นอนุพันธ์ในรูปของเอมีนลงไปได้

นอกจากสารตัวเสริมแรงที่ใช้กันโดยทั่วไปแล้ว ในบางครั้ง การใช้ calcined clayหรือ CaCO เป็นสารตัวเติมก็ก่อให้เกิดผลดีหลายประการ กล่าวคือ นอกจากจะช่วยลดต้นทุนการผลิตแล้ว ยังช่วยปรับปรุงกระบวนการขึ้นรูปของยางคอมพาวน์อีกด้วย สารตัวเติมทั้งสองชนิดดังกล่าวสามารถกระจายตังในยางไดง่าย ราคาถูก และไม่มีผลต่อการคงรูปของยาง นอกจากนี้ calcined clay ยังช่วยให้ยางคงรูปที่ได้มีการดูดซึมน้ำต่ำซึ่งเป็นสมบัติที่จำเป็นสำหรับการทำปลอกหุ้มสายเคเบิ้ลอีกด้วย ส่วน hard clay ไม่นิยมนำมาใช้เป็นสารตัวเติมในยางชนิดนี้ เพราะแม้ว่าสารตัวเติมชนิดนี้จะช่วยเสริมแรงในยาง แต่ว่ามันจะทำให้อัตราเร็วในการเกิดปฏิกิริยาคงรูปของยางลดลง

ยาง EPDM เกรดที่มีสัดส่วนของเอทธิลีนสูงสามารถตกผลึกได้น้อย จึงส่งผลให้ยางมีความแข็งแรงในสภาพที่ไม่คงรูปสูง สามารถเติมน้ำมันและสารตัวเติมได้มาก ซึ่งในบางครั้งอาจเติมสารตัวเติมได้มากถึง 2 เท่าของปริมาณยางที่ใช้ (200phr) จึงนับว่าเป็นจุดเด่นของยางชนิดนี้ อย่างไรก็ดี ยางเกรดที่มีปริมาณเอทธิลีนสูงก็มีข้อเสียคือการบดผสมยางที่อุณหภูมิต่ำจะทำได้ยากและสมบัติของยางที่อุณหภูมิต่ำจะไม่ดี เพาระเมื่ออุณหภูมิต่ำลง อัตราการตกผลึกของยางก็จะเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ยางสูญเสียความยืดหยุ่นไปอย่างรวดเร็ว สำหรับกรณีที่ต้องการทำการผสมยางสูตรที่มีปริมาณสารตัวเติมสูงๆ ก็ควรใช้เทคนิคการผสมแบบกลับด้าน(upside-downmixing technique)

 การผสมยาง EDPM กับพอลิเมอร์ชนิดอื่นๆ

ยาง EDPMสามรถนำไปผสมกับยางชนิดอื่นๆ ได้อย่างหลากหลาย ส่วนใหญ่แล้วมักนำ ยาง EDPM ไปผสมกับยางไดอีน เช่น ยางธรรมชาติ IR SBR BRและ  NBR โดยใช้ยางยาง EDPMประมาณ 30% โดยน้ำหนักเพื่อปรับปรุงสมบัติความทนทานต่อการเสื่อมสภาพอันเนื่องจากโอโซนของยางไดอีน อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับยางไดอีน ยาง EDPM มีพันธะคู่อยู่น้อยและคงรูปได้ช้ากว่า ดังนั้น การนำยางไดอีนมาผสมกับยาง EDPMจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงการคงรูปด้วย ไม่เช่นนั้นยางอาจเกิดการแยกเฟสหรือยางผสมที่ได้มีสมบัติเชิงกลที่ไม่น่าพอใจ โดยทั่วไป ยาง EDPMที่ใช้ในการผสมควรเป็นยาง ENB-EDPM เกรดที่มีปริมาณ ENB สูง (เพราะทำให้ยางคงรูปได้เร็ว)และควรใช้สารตัวเร่งปฏิกิริยาที่มีความว่องไวต่อปฏิกิริยาคงรูปสูงหรืออาจใช้เพอร์ออกไซด์ในการคงรูป การนำยาง EDPM มาผสมกับยาง NBR จะทำให้ได้ยางผสมที่สามารถทนน้ำมันและทนต่อสภาพอากาศได้ดี ซึ่งสามารถไปใช้แทนยาง CR ได้

 

ยาง EPMหรือยาง EDPM เกรดที่มีปริมาณไดอีนต่ำ สามารถนำไปผสมกับพอลิเมอร์ที่ไม่มีพันธะคู่ได้ เช่น การผสมยางยาง EDPMกับพอลิโอเลฟิน (เช่น พอลิโพรพิลีน) ได้เป็นยางเทอร์โมพลาสติก (thermoplastic elastomer,TPE) ซึ่งTPE ที่ได้นี้จะมีสมบัติคล้ายยางแต่จะมีกระบวนการขึ้นรูปเหมือนพลาสติกและสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ (recycle)ได้

 

 การใช้งาน

ยาง EDPM ส่วนมากนิยมใช้ในการผลิตยางชิ้นส่วนรถยนต์ เช่นยางขอบหน้าต่าง ยางขอบประตู แก้มยางรถยนต์ ท่อยางของหม้อน้ำรถยนต์ (radiator hose) เป็นต้น ยาง EDPM ยังถูกใช้ในการผลิตท่อยางของเครื่องซักผ้า สายพานลำเลียง แผ่นยางกันน้ำ แผ่นยางมุงหลังคา ฉนวนหุ้มสายเคเบิ้ล (โดยเฉพาะที่มีความต่างศักย์สูงๆ)และใช้ในการผสมกับพลาสติกเพื่อปรับปรุงสมบัติบางประการของพลาสติก เช่น เพิ่มความเหนียวและความต้านทานต่อแรงกระแทก(impact resistance)เป็นต้น

Visitors: 100,839